วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

นาฎศิลป์....ชุดการแสดง

กินรีร่อน
กินรีร่อน เป็นการแสดงที่รวมการแสดงสองชุด มาไว้ในชุดเดียวกัน เพื่อให้น่าสนใจ แปลกตายิ่งขึ้น การแสดงชุดนี้ได้รับความนิยมยกย่องอย่างมากในด้านความวิจิตรสวยงาม ของกระบวนท่ารำ และเครื่องแต่งกาย โดยชุดแรกคือ กินรีร่อนเป็นการรำในฉากหนึ่ง ที่นางมโนราห์และพี่ ๆ บินมาเล่นน้ำที่สระอโนดาษ เขาไกรลาศ ชุดนี้เป็นการรำที่สวยงามมาก ประกอบกับดนตรีที่ไพเราะ และการแสดงอีกชุดหนึ่งที่นำมารวมกันไว้คือ ชุดการรำมโนราห์ ซึ่งอยู่ในเรื่องมโนราห์ โดยท่านผู้หญิงหม่อม แผ้ว สนิทวงศ์เสนีย์ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ มโนราห์บูชายันต์ เป็นการรำของนางมโนราห์ ก่อนที่จะแกล้งโดดเข้ากองไฟ เพื่อบินหนีไป

ระบำกฤดาภินิหาร

ระบำกฤดาภินิหาร ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ เพื่อใช้ประกอบการแสดงละครเรื่อง เกียรติศักดิ์ไทย ในสมัยพระอนุมานราชธนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร (หลังยุคละครหลวงวิจิตรวาทการ) ประดิษฐ์ท่ารำโดยหม่อมต่วน ภัทรนาวิก และนางลมุล ยมะคุปต์ ประพันธ์บทโดย สุดา บุษปฤกษ์ ในครั้งแรกนั้นใช้วงดนตรีสากลของกรมศิลปากรบรรเลงประกอบการแสดง ภายหลังจึงใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม และแยกออกเป็นชุดระบำเบ็ดเตล็ดที่นิยมใช้ในการอวยพรในงานมงคลต่างๆ เพลงที่ใช้ประกอบคือเพลงรัวดึกดำบรรพ์ ครวญหา จีนถอนและจีนรัว เนื้อเพลงกล่าวยอพระเกียรติสมเด็จพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระราชกฤดาภินิหารอันยิ่งใหญ่ของไทย ที่พระเกียรติลือกระฉ่อนถึงเทวดาชั้นฟ้า ผู้แสดงชายหญิงแต่งกายยืนเครื่องพระนางสมมติเป็นเทวดา นางฟ้า รำใช้บทตามเนื้อร้องในตอนท้ายจึงถือพานดอกไม้ออกโปรย แสดงการอวยชัยให้พร การแต่งกาย ยืนเครื่องพระนางการแสดง ใช้ผู้แสดง ๑-๒ คู่โอกาสที่ใช้ในการแสดง ในงานพิธีมงคลและงานเบ็ดเตล็ด

ฟ้อนเล็บ
ฟ้อนเล็บ เป็นการฟ้อนของชาวไทยภาคเหนือ การแสดงจะมีดนตรีบรรเลงประกอบ จะมีเนื้อร้องหรือไม่มีเนื้อร้องก็ได้ โอกาสที่แสดง ในงานเทศกาลหรืองานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ ผู้แสดง ฟ้อนแต่ละชุดจะใช้จำนวนคนแตกต่างกันไป นิยมกันมี ๔ คู่ ๖ คู่ หรือ ๘ คู่ การแต่งกาย จะแต่งกายแบบไทยชาวภาคเหนือสมัยโบราณ คือ เกล้าผมทัดดอกไม้และอุบะ นุ่งผ้าตามแบบชาวเหนือ สวมเสื้อทรงกระบอกแขนยาว คอกลม ห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง และสวมเล็บมือยาวทั้ง ๘ นิ้ว เว้นแต่นิ้วหัวแม่มือ

การแสดง ผู้แสดงจะร่ายรำตามทำนองเพลงที่เชื่องช้า ส่วนการใช้ท่าฟ้อนเล็บนั้น ช่างฟ้อนมักจะจำต่อๆ กันมา เป็นท่าฟ้อนดั้งเดิมของชาวเหนือ คือ ๑. ท่าพายเรือ ๒. ท่าบิดบัวบาน ๓. ท่าหย่อน
ต่อมาเมื่อนาฎศิลป์ทางภาคกลางแพร่มาสู่ภาคเหนือ การฟ้อนเล็บก็มีการปรับวิธีการฟ้อนให้เข้ากับท่ารำแม่บท เพิ่มท่ารำให้มากขึ้นและแตกต่างกันไป
ดนตรี เครื่องดนตรีที่ใช้ในการฟ้อนเป็นขบวนกลองยาว ซึ่งเป็นดนตรีของชาวภาคเหนือ ได้แก่ กลองแอร์ กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบ ฆ้องโหม่งใหญ่ ฆ้องโหม่งเล็ก ฉิ่ง ปี่ เวลาดนตรีบรรเลง เสียงปี่ดังไพเราะเยือกเย็นมาก ท่วงทำนองเชื่องช้า เสียงกลองจะตีดัง ตะ ตึ่ง นง ตึ่ง ต๊ก ถ่ง อย่างนี้เรื่อยไป ส่วนช่างฟ้อนก็จะฟ้อนช้าๆ ไปตามลีลาของเพลง
เพลงร้อง อาจมีหรือไม่มีก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น: